Press: Professional in “a day” magazine

Magazine: a day #140 (April 2012)

Column: Main Course “Professional” –> Printing professional

“A technician measured with love, expertise, and earnestness”

********************

นิตยสาร: ​a day เล่มที่ 140 ประจำเดือนเมษายน 2555

คอลัมน์: Main Course “ช่างชำนาญ” –> ช่างพิมพ์

“ความเป็นช่างวัดกันที่ความรัก ความชำนาญ และการทุ่มสุดต้ว”

********************

ช่างไฟ ช่างประปา ช่างก่อสร้าง ช่างหล่อ ช่างซ่อมทีวี ช่างไม้ ช่างสี ช่างยนต์ ช่างกล ช่างเชื่อม ฯลฯ

โลกใบนี้มีช่างอยู่มากมายหลายประเภท ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่ต้องเกี่ยว ทั้งที่คุ้นเคยและไม่คุ้นเคย ทั้งที่แสนเชยและทันสมัย

ไม่มีใครไม่รู้จักพวกเขา แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่มีใครจะโฟกัส จับจ้อง

ไม่ว่าจะด้วยความสามัญธรรมดา ไม่มีอะไรโดดเด่น หรือกระทั่งความคิดว่า “ใครๆ ก็เป็นได้” ทำให้ความเป็นช่างถูกตีค่าติดลบอย่างไม่สมควร

อะไรก็ช่าง, เราพบความน่าสนใจในอาชีพนี้

ตลอดการพูดคุยกับทั้ง 13 ช่าง ในสาขาที่หลากหลาย นอกจากการพบความสำคัญระดับขาดไม่ได้ของอาชีพเหล่านี้แล้ว เรายังพบวิธีคิดและการเรียนรู้ชีวิตจากอาชีพของพวกเขา อาจจะไม่ใช่ชุดคำสวยหรู คมคาย หรือทัศนคติซับซ้อนลึกซึ้ง แต่ทุกความ กลั่นกลองออกมาจากการลงมือทำอันยาวนานจนเข้าใจธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ อย่างแท้จริง

ไม่ใช่แค่ชำนาญในสิ่งที่ทำ พวกเขายังชำนาญในการใช้ชีวิตอีกด้วย

เพราะชีวิตไม่ใช่วิธีคิด แต่คือวิธีทำ

ช่างพิมพ์

“ความเป็นช่างวัดกันที่ความรัก ความชำนาญ และการทุ่มสุดต้ว”

บนโลกที่ทำทุกอย่างด้วยคอมพิวเตอร์ เราปล่อยให้เครื่องสมองกลทำหน้าที่บางอย่างแทนมือ หรือบางครั้ง-ทำได้เหนือกว่ามือ แต่ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวไปถึงจุดสูงสุด บางคนกลับเลือกที่จะเดินสวนทาง

นิรุติ กรุสวนสมบัติ ไม่ใช่ช่างพิมพ์วัยชรา ไม่ใช่คนหัวโบราณคร่ำครึ แต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจสืบทอดกิจการโรงพิมพ์ระบบ letterpress ที่แทบจะไม่เหลือแล้วในเมืองไทย

“เราส่วนใหญ่เกิดมาก็เจอคอมพิวเตอร์แล้ว มีการพิมพ์ระบบออฟเซ็ตซึ่งรวดเร็วมาก การพิมพ์ถูกมองว่าเป็นเรื่องง่าย เลตเตอร์เพรสส์จึงดูเป็นของแปลก แต่จริงๆ แล้วเมื่อก่อนคือเรื่องปกติ คุณป้าของผมมีโรงพิมพ์เก่าอยู่ ท่านไม่ได้เลือกหรอกว่าจะเป็นโรงพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสส์ แต่ในอดีต เทคโนโลยีการพิมพ์มีแบบนี้แบบเดียว” นิรุติเล่าเสียงดัง แข่งกับเสียงเครื่องพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์เก่าแก่หลากหลายขนาดและรุ่น ที่กำลังส่งเสียงเป็นจังหวะ ก่อนจะนำทางไปยังห้องที่ทำให้เราต้องอ้าปากค้าง เพราะเต็มไปด้วยชั้นไม้ เก็บตัวตะกั่วหลายหมื่นตัว

เล่าความสั้นๆ สำหรับใครที่ไม่รู้จักการพิมพ์ระบบเลตเตอร์เพรสส์ เลตเตอร์เพรสส์คือระบบการพิมพ์พื้นนูนที่แพร่หลายและมีบทบาทสำคัญต่อการพิมพ์ของโลก คิดค้นโดยโยฮันน์ กูเตนเบิร์ก ชาวเยอรมัน ตั้งแต่เกือบ 600 ปีก่อน วิธีการพิมพ์สุดคลาสสิกคือการต้องใช้ตัวอักษรโลหะจัดวางเรียงเป็นคำบนถาด ก่อนจะยึดบนฐานให้แน่น แล้วนำไปปั๊มลงบนกระดาษ แน่นอนว่าขั้นตอนที่ยากที่สุดคือการเรียงตัวอักษรขนาดเล็ก ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะออกมาเป็นข้อความบนกระดาษที่สวยงามและถูกความหมายได้

“แต่ก่อนทำหนังสือ 1 เล่ม วันนึงไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากเก็บตัวตะกั่วจากเก๊ะแล้วเรียงให้เป็นประโยค”

ในฐานะเด็กที่เติบโตมาท่ามกลางโรงพิมพ์ที่รับพิมพ์งานตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ ทั้งนามบัตร บิลเงินสด กระดาษหัวจดหมายของบริษัทห้างร้าน คุ้นเคยกับเครื่องพิมพ์ตั้งแต่รุ่นแรกๆ ที่ต้องใช้มือโยก จนเริ่มพัฒนาเป็นแบบเหยียบปั๊มคล้ายจักร จนถึงรุ่นที่ใช้มอเคอร์ แม้ตอนเด็กจะไม่เคยลงมือพิมพ์ด้วยตัวเองสักครั้ง แต่ก็ย่อมหนีไม่พ้นความรู้สึกผูกพัน

 

เหตุผลที่การพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสส์ยังเป็นที่นิยมในงานพิมพ์ใบเสร็จ เพราะสามารถรันเลขที่ใบเสร็จได้โดยอัตโนมัติ ในขณะที่การพิมพ์แบบออฟเซ็ตนั้นไม่สามารถทำได้

“เราโตมากับเก๊ะไม้ที่เต็มไปด้วยตัวตะกั่วภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ตัวพิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก สระ เริ่มต้นมาจากตรงนั้น พอเราทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ก็ต้องสรรหาเทคนิคการพิมพ์ แล้วของเรามีอยู่มีโรงพิม์ของเราเอง ก็คิดว่าทำไมไม่ใช้ของตรงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้เป็นจุดเด่นของเรา ผมเลยเริ่มหันมาทำจริงจังเมื่อ 4-5 ปีก่อน เริ่มจากทำการ์ดแต่งงานของตัวเอง”

Press A Card จึงเกิดขึ้นง่ายๆ จากเพื่อนที่เห็นการ์ดแต่งงานแล้วชื่นชอบ จึงขอให้นิรุติทำให้ ทำเป็นงานอดิเรกได้สักพักจึงเลื่อนขึ้นมาทำจริงจัง ซึ่งไม่ด้แค่หยิบมาใช้ซ้ำ แต่ผ่านขั้นตอยเริ่มต้นศึกษา ลงมือทำ พัฒนา และประยุกต์ใหม่ให้ร่วมสมัยด้วยวิธีคิดของนักออกแบบกราฟิกที่ตัวเองมีอยู่

“ทุกวันนี้โรงพิมพ์เก่าๆ ก็ค่อยๆ ตายไป ไม่มีช่างสืบทอด โรงตะกั่วก็เลิกทำตัวตะกั่วไปแล้ว หาให้ตายก็ไม่มีใครทำ ต่างประเทศก็ไม่ค่อยมีเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะใช้แม่พิมพ์พลาสติกแทน วิธีการของเราคือเอากราฟิกดีไซน์เข้ามาเปลี่ยนให้เกิดวิธีใหม่ โดยการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์แล้วนำไปอัดบล็อกเป็นรูปตามที่เราต้องการ ถึงจะไม่ได้เรียงตัวตะกั่ว แต่ยังต้องใช้หลักการทำงานเดิม คือ 1 สี 1 บล็อก ถ้าเราพิมพ์ 10 สี ก็ต้องทำ 10 บล็อกแยกกัน เวลามีคนมาพิมพ์แล้วขอด่วนๆ เราก็ไม่พิมพ์ให้นะ เพราะงานพิมพ์แบบนี้มันมีระยะเวลาของมัน

เราจะค่อยๆ พิมพ์ ค่อยๆ ทำ มันไม่เหมือนคอมพิวเตอร์ที่เข้าคอมไปแป๊บเดียวก็ออกมาแล้ว เราต้องไปจ้างเขาทำบล็อกมา บางทีทำมาไม่ฉาก ก็ต้องมาดัดเอง ผสมสีด้วยมือ ด้วยตา ด้วยความรู้สึก แล้วเอาไปเปรียบเทียบกับ pantone ค่อยๆ ใส่กระดาษแผ่นบางๆ เข้าไป เอียงนิดเอียงหน่อย เวลาแทรกสีก็ต้องคอยระวังว่าจะแทรกให้ตรงเปีะไม่ให้เหลื่อมกันได้ยังไง ซึ่งมันยากมาก เราก็ต้องใช้เวลาในการปรับงานให้มีคุณภาพใกล้เคียงกับที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด”

บนเนื้องานที่ละเอียดอ่อน ใช้เวลานานกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ ขัดแย้งกับโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความรวดเร็วทันใจ แต่นิรุติกลับเป็นคนรุ่นใหม่ที่ยืนหยัดอยู่ด้วยวิธีคิดอละสายตาของผุู้ที่มองเห็นคุณค่าของงานที่ทำด้วยมือ

“ผมเคยวิ่งเล่นอยู่แถวนี้ เคยกึ่งโดนบังคับว่าปิดเทอมอย่าไปเที่ยวเลย มาช่วยเก็บตัวเรียง ตัวตะกั่ว อยู่กับรายละเอียดมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เราติดนิสัยใส่ใจในการทำงานกราฟฟิกมาก พวกรายละเอียดในการพิมพ์ สี ความคมชัด การจัด alignment ให้ได้ฉาก ได้มุม เรื่องความเร็วความช้าไม่มีผลเลย เพราะมันต้องช้าอยู่แล้ว ถ้าอยากให้งานออกมาดี ต้องทำใจว่าไม่มีความทันใจหรอก เหมือนกินอาหารที่อร่อย ต้องใจเย็นๆ เหมือนกัน”

แม้นิรุติจะเริ่มลงมือพิมพ์งานด้วยตัวเองทุกขั้นตอนเพียงไม่กี่ปี กว่าจะเรียกตัวเองได้ว่าช่างพิมพ์ แต่ข้อดีของการเป็นนักออกแบบกราฟิกที่เป็นช่างพิมพ์ คือการเห็นความเป็นไปได้ แนะนำลุกค้าได้ว่าควรทำแบบไหนที่จะช่วยให้งานออกมาดีที่สุด ในงานหลายชิ้นที่เขาทำทั้งการืดแต่งงาน นามบัตร สมุดบันทึก กว่าหลากหลายแบบ เราจึงสัมผัสได้ถึงความตั้งใจและพิถีพิถันที่มีอยุ่เต็มเปี่ยม

“พอเราลงไปทำเองเรารู้เลยว่าการจะได้มา แต่ละสิ่งไม่ใช่ง่าย พลังจากสมองและหัวใจที่ต้องใส่ลงไป มันเยอะนะ ตอนนี้อายุช่างแต่ละคนในโรงพิมพ์เราก็มากแล้ว เป็นช่างเก่าแก่อยู่กันมา 20-30 ปี สายตาไม่ค่อยดี ถ้าไม่มีใจ อายุป่านนี้คงเกษียณไปนานแล้ว ความรักก็ส่วนหนึ่ง ความชำนาญก็อีกส่วนหนึ่ง แต่อย่างน้อยที่รู้มาคือมันไม่ได้ได้มาง่ายๆ กว่าจะได้การ์ดออกมาหนึ่งแผ่น หรืองานพิมพ์หนึ่งงาน ผมเชื่อว่าช่างต้องทุ่มสุดตัวจริงๆ  

สมัยเด็กมองงานพิมพ์ก็คิดว่าเป็นงานของช่าง ทุกคนมองช่างว่าเป็นช่าง เป็นคนใช้แรงงาน แต่ที่จริงความเป็นช่างคือความละเอียด ต้องใช้ทั้งสมอง จิตใจ สมาธิ มีความประณีต ใส่ใจ และมีความทุ่มเทในการทำงาน คนไทยไม่ค่อยซาบซึ้งถึงความเป็นงานศิลปะของช่างแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเขาสักแต่นั่งคุมเครื่อง แต่เขาต้องดูแลทุกกระบวนการการพิมพ์ บางทีระบบการพิมพ์สมัยใหม่ก็ทำให้การรับรู้ความเป็นศิลปะในงานพิมพ์ด้อยค่าลงไป ทำให้คนเข้าใจว่างานพิมพ์มันง่ายว่ะ แต่พอได้มาดูงานเราจะรู้ว่ามันไม่ใช่เลย”

เสียงฉึบฉับจากเครื่องพิมพ์ยุคเก่าที่ถูกบังคับด้วยช่างพิมพ์ซึ่งต่างก็มีเทคนิคในการพิมพ์ที่แตกต่างเฉพาะตัวกันออกไป ยังคงดังสม่ำเสมอ เรารู้สึกได้ว่านั่นคือเสียงที่บ่งบอกการมีชีวิต

“เราไม่ได้ตั้งใจจะทำตลาดให้กว้างและใหญ่ แต่เราแค่อยากอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้ เพราะเชื่อว่ายังมีคนที่รักงานแบบนี้อยู่” และนี่คือเสียงพูดตบท้ายของช่างนิรุติ ผู้ต่อลมหายใจให้เครื่องพิมพ์เหล่านั้นได้มีชีวิตอยู่

ช่างนิรุติ กรุสวนสมบัติ: ช่างพิมพ์และนักออกแบบกราฟิก แห่ง Press A Card อายุงาน 5 ปี